03 พฤศจิกายน 2552

อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ประวัติโดยย่อ
........ตำบลโพธาราม มีตำนานเล่าขานกันมาช้านาน เนื่องจากในสมัยก่อนประชาชนนิยมเรียกกันว่า " บ้านโพธิ์ตาดำ " เหตุที่ประชาชนเรียกกันว่า "บ้านโพธิ์ตาดำ " เพราะมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่เป็นหมู่ และใกล้หมู่ต้นโพธิ์บ้านของนายดำ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่บ้าน จึงเป็นที่เรียกกันติดปากว่า " บ้านโพธิ์ตาดำ " โดยสำเนียงของชาวจีนมักเรียกถิ่นนี้ว่า " พอไจ่ล้ำ" และชาวมอญเรียกว่า " โพธาราม " พระภักดีดินแดน ( พลอย วงศาโรจน์) ปลัดมณฑลราชบุรี ได้ดำเนินการปรับปรุงเขตและนามตำบลโดยเห็นว่าถิ่นนี้ มีต้นโพธิ์ และมีวัด (อาราม) ทางราชการจึงตั้งนามว่า " ตำบลโพธาราม " โพธาราม เดิมตั้งอยู่ที่ปากคลองบางโตนด ตำบลบางโตนด ฝั่งตะวันตก แม่น้ำแม่กลอง เรียกชื่อว่า แขวง ขึ้นอยู่กับจังหวัดราชบุรี ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐาน ต่อมา พ.ศ. 2436 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากปากคลองบางโตนด มาตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองฟากตะวันออก เยื้องกับวัดเฉลิมอาสน์ ที่ตำบลโพธาราม ต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากริมฝั่งแม่น้ำมาอยู่ที่บริเวณที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2495 ที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอ ตั้งอยู่ถนนหน้าอำเภอ ตำบลโพธาราม ในเขตเทศบาลเมืองโพธาราม อยู่ห่างจากสถานีรถไฟโพธาราม ประมาณ 400 เมตร ห่างจากทางหลวงแผ่นดินสายเพชรเกษม (สายเก่า) ประมาณ 1.5 กิโลเมตร
ที่ตั้งและอาณาเขต
.....ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอท่าม่วง (จังหวัดกาญจนบุรี) และอำเภอบ้านโป่ง
.....ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเมืองนครปฐม (จังหวัดนครปฐม) และอำเภอบางแพ
.....ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอดำเนินสะดวกและอำเภอเมืองราชบุรี
.....ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอจอมบึง
.......ในอดีต โพธารามมีชนชาติหลายเชื้อชาติ นอกจากเชื้อสายทยแท้แล้ว ยังมีชนชาติเชื้อสายลาว มอญ เขมร และจีน เนื่องจากในสมัยก่อนพระมหากษัตริย์ไทยที่รบชนะที่กรุงเวียงจันทร์ ได้กวาดต้อนชาวลาวให้มาอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองของ โพธาราม และต่อมาได้อพยพออกไปตามตำบลใกล้เคียง เหลือเพียงส่วนใหญ่เป็นเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ประกอบอาชีพค้าขายและเนื่องจากเขตอำเภอโพธารามมีต้นโพธิ์ขึ้นเป็นจำนวนมากดยเฉพาะภายในวัด จึงได้ขนานนามว่าโพธาราม คือ (ต้นโพธิ์+อาราม)
.......สภาพทั่วไปของตำบลเทศบาลเมืองโพธารามเป็นที่ราบมีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน และอยู่ในเขตชลประทาน ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและเกษตรกรรม
.......อาณาเขตตำบลทิศเหนือ จรดตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีทิศใต้ จรดตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีทิศตะวันออก จรดตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีทิศตะวันตก จรดแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี
.......จำนวนประชากรของตำบลจำนวนประชากรทั้งสิ้น 13,589 คน เป็นชาย 6,672 คน เป็นหญิง 6,957 คน
.......ข้อมูลอาชีพของตำบลอาชีพหลัก ข้าราชการและค้าขายอาชีเสริม ค้าขาย
.......ข้อมูลสถานที่สำคัญของตำบล
1) วัดโพธาราม
2) วัดโพธิ์ไพโรจน์
3) วัดไทร
4) วัดโชค
5) ที่ว่าการอำเภอโพธาราม
6) เทศบาลเมืองโพธาราม
7) โรงพยาบาลโพธาราม
8) สาธารณสุขอำเภอโพธาราม

3

2

02 พฤศจิกายน 2552

ทศชาติชาดก

พระสุวรรณสาม

........พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระสุวรรณสามทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี
........ชายหนุ่มทุกุละกับหญิงสาวปาริกา ต่างเป็นบุตรของนายพรานเนื้อ พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายต้องการให้แต่งงานกัน แต่ทั้งสองเห็นว่า การมีคู่เป็นทุกข์ เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็แต่งงานกัน แล้วชวนกันออกบวชเป็นดาบสอยู่ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่งท้าวสักกเทวราชรู้ว่า ดาบสทั้งสองจะตาบอดจึงลงมาและบอกให้มีบุตรโดยให้ดาบสทุกุละลูบท้องดาบสินีปาริกา พร้อมกับตั้งจิตปรารถนาขอให้ได้บุตร ต่อมาไม่นานดาบสินีปาริกาก็ตั้งครรภ์ แล้วคลอดบุตรเป็นชาย มีผิวพรรณเหลืองสวยเหมือนทองคำจึงตั้งชื่อว่า "สุวรรณสาม" เมื่อสุวรรณสามเติบโตเป็นชายหนุ่มมีอายุได้ 16 ปี วันหนึ่งดาบสดาบสินีออกไปเก็บผลไม้ตอนเย็นเกิดฝนตกหนัก จึงเข้าหลบฝนข้างจอมปลวก ใต้ต้นไม้ งูเห่าตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในจอมปลวก พ่นพิษใส่ตาดาบสทั้งสองทำให้ตาบอดสนิท สุวรรณสามเห็นผิดเวลาจึงออกตามหาจนมาพบเข้าได้ปลอบโยน แล้วพากลับอาศรม สุวรรณสามผูกเชือกโยงจากอาศรมไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นราวให้บิดามารดาจับเดินไป ตั้งแต่นั้นมา สุวรรณสามได้ปรนนิบัติเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นอย่างดี พระเจ้าปิลยักษ์ กษัตริย์เมืองพาราณสี โปรดการล่าเนื้อในป่าหิมพานต์ตามลำพัง เย็นวันหนึ่งพระองค์เสด็จมาถึงแม่น้ำมิคสัมมตา เห็นสุวรรณสามมีฝูงสัตว์ป่าอยู่ ด้วยอำนาจเมตตาบารมี พระเจ้าปิลยักษ์ทรงประสงค์จะรู้ว่าเป็นใคร เทพหรือนาคจึงยิงศรถูกสุวรรณสาม สุวรรณสามได้รับความเจ็บปวดอย่างแรงกล้าแต่ไม่โกรธผู้ยิงหรือเกรงกลัวความตาย แต่กลับคร่ำครวญห่วงใยบิดามารดา พระเจ้าปิลยักษ์ทรงสอบถามจนทราบเรื่องราว ทำให้พระองค์ทรงสำนึกผิด และให้สัญญากับสุวรรณสามว่า จะสละราชสมบัติมาปรนนิบัติเลี้ยงดูดาบส ดาบสินีแทนสุวรรณสาม สุวรรณสามกล่าวฝากฝังบิดามารดาแล้วก็สลบไป พระเจ้าปิลยักษ์เสด็จไปที่อาศรม ดาบสดาบสินีรู้ว่าไม่ใช่สุวรรณสาม พระองค์จึงต้องสารภาพและพาดาบสทั้งสองไปยังที่สุวรรณสามนอนสลบอยู่ ดาบสประคองศีรษะสุวรรณสามส่วนดาบสินีประคองเท้าแล้วทั้งสองก็ร้องไห้คร่ำครวญดาบสินีรู้สึกว่าร่างกายของสุวรรณสามยังมีไออุ่นอยู่ จึงรู้ว่ายังไม่ตาย ดาบสทั้งสองจึงตั้งสัตยาธิษฐาน ด้วยบุญกุศลที่สุวรรณสามปรนนิบัติเลี้ยงดูบิดามารดาทำให้พิษและบาดแผลหายได้ สุวรรณสามพลิกฟื้นขึ้น เทพธิดาสุนทรี ซึ่งเคยเป็นมารดาสุวรรณสามในอดีตชาติ และคอยดูแลคุ้มครองสุวรรณสามอยู่ก็ตั้งสัตยาธิษฐานขึ้นบ้าง สุวรรณสามก็สามารถลุกขึ้นนั่งได้อย่างน่าอัศจรรย์ พร้อมกันนี้ ดวงตาของดาบสดาบสินีก็คืนดีดังเดิมอีกด้วย สุวรรณสามกล่าวให้โอวาทพระเจ้าปิลยักษ์ให้กระทำดีต่อพระชนกชนนี พระมเหสี พระโอรสธิดา ชาวเมือง บำรุงสมณพราหมณ์ เมตตาสัตว์นานาชนิด และประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจคนมีเมตตา คือ คนที่มีความรักและปรารถนาดี ทั้งแก่คนที่เป็นมิตรและศัตรู

พระมหาชนก

พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก
........ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี
........พระเจ้าอริฏฐชนิกแห่งเมืองมิถิลา ทำสงครามพ่ายแพ้พระเจ้าโปลชนิกพระอนุชา และสวรรคตในที่รบ ขณะนั้นพระมเหสีทรงพระครรภ์ เสด็จลี้ภัยไปอยู่เมืองกาฬจัมปาก์ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองมิถิลาถึง 5,120 กิโลเมตร
........พราหมณ์ทิศาปาโมกข์รับพระนางไปอยู่ด้วย พระนางประสูติพระโอรส และให้พระนามตามพระอัยกาว่า มหาชนก เมื่อพระมหาชนกเจริญพระชันษาขึ้นมักถูกเพื่อนๆ ล้อว่า เป็นเด็กกำพร้า พระมหาชนกทรงถามความเป็นจริงจากพระมารดา
........ครั้นรู้ความจริง พระองค์ตั้งพระทัยศึกษาศิลปวิทยาเพื่อกลับไปแก้แค้นแทนพระบิดา ต่อมา พระมหาชนกตัดสินพระทัยเดินทางไปเมืองมิถิลาโดยเดินทางค้าขายทางเรือไปพร้อมกับพ่อค้าคนอื่นๆ 700 ลำเรือแล่นมาได้ 3 วันก็เกิดพายุใหญ่ เรือทั้งหมดอับปางลง พ่อค้าคนอื่นๆ จมน้ำตายหรือไม่ก็ถูกปลาร้ายฮุบกิน
........ส่วนพระมหาชนกทรงปีนขึ้นบนเสากระโดง กำหนดทิศทางเมืองมิถิลาแล้วกระโดดไปตกไกลจากเรือจึงพ้นปลาร้าย พระองค์เพียรว่ายน้ำอยู่กลางทะเลถึง 7 วันก็ถึงวันอุโบสถพอดี พระองค์สมาทานศีล วันนั้นนางมณีเมขลาเทพธิดาผู้ตรวจดูทะเลเหาะมาพบเข้าเห็นพระมหาชนกมีความเชื่อมั่นในความเพียรพยายาม จึงสงสารอุ้มพาเหาะไปไว้ในอุทยานเมืองมิถิลา
........พระเจ้าโปลชนกประชวรสวรรคต เมืองมิถิลาจึงว่างกษัตริย์ มีเพียงพระธิดาสีวลี ปุโรหิตจึงทำพิธีเสี่ยงรถหาคู่ให้พระธิดา ราชรถวิ่งมาหยุดอยู่ที่พระมหาชนกซึ่งบรรทมหลับในอุทยาน ปุโรหิตและมหาชนกพร้อมใจกันอภิเษกให้พระมหาชนกเป็นกษัตริย์แห่งเมืองมิถิลา ทรงพระนามว่า พระเจ้ามหาชนก พระองค์ส่งอำมาตย์ไปรับพระมารดา และพราหมณ์ทิศาปาโมกข์มาอยู่ด้วยอย่างมีความสุข
........พระเจ้ามหาชนกทรงเห็นสัจธรรมจากต้นมะม่วง 2 ต้น ต้นหนึ่งมีผลดก อีกต้นหนึ่งมีกิ่งใบดก ต้นมะม่วงที่มีผลดกถูกเก็บผลจนกิ่งหักเสียหาย เหมือนความเป็นกษัตริย์ ส่วนต้นมะม่วงที่มีใบดกไม่มีผลไม่ได้รับอันตรายใดๆ เหมือนความเป็นนักบวช พระทัยของพระองค์มอบราชกิจให้แก่พระโอรสผู้มีพระนามว่า ทีฆาวุและอำมาตย์ส่วนพระองค์เสด็จออกผนวชเป็นนักบวช ไม่ว่าพระนางสีวลีและชาวเมืองจะขอร้องอย่างไรก็ตาม
.......ความพากเพียรนำไปสู่ความสำเร็จได้นั้นต้องเป็นความเพียรที่ประกอบด้วยความรักความเข้าใจและความมุ่งมั่นต่องานอย่างแท้จริง

พระมโหสถ
........พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระมโหสถทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี
........มโหสถเป็นบุตรชายของท่านเศรษฐีสิริวัฒกะกับนางสุมนาเทวี ณ หมู่บ้านปาจีนวยมัชคาม ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองมิถิลา แคว้นวิเท
........เมื่อคลอดออกมาจากครรภ์มารดาได้ถือแท่งยาออกมาด้วย จึงได้ชื่อว่ามโหสถ (ผู้มียาขนานเอก) และพอป่นยานี้ทาหน้าผากท่านเศรษฐีเพียงเล็กน้อย ท่านก็หายจากโรคปวดศีรษะ ซึ่งเป็นมานานถึง 6 ปี
........สิริวัฒกเศรษฐีแจกจ่ายยารักษาแก่คนทั่วไปจนเลื่องลือไปทั่ว เมื่อมโหสถมีอายุได้ 7 ปี ได้สร้างศาลาใหญ่ไว้กลางหมู่บ้าน ให้เป็นที่พักอาศัยของคนเดินทาง และศาลาแห่งนี้ มโหสถได้ใช้ตัดสินคดีต่างๆ อย่างชาญฉลาด ดังเช่น คดีลักวัว มโหสถให้วัวกินน้ำใบประยงค์โขลกวัวสำรอกอาหารออกมา ผู้เป็นเจ้าของจะสามารถบอกชนิดของอาหารวัวได้ถูกต้อง อีกคดีหนึ่ง คดีหญิงแย่งลูก มโหสถให้หญิงทั้งสองดึงแย่งเด็กกัน ผู้ที่ปล่อยมือเพราะสงสารเด็กคือมารดาที่แท้จริงของเด็ก พระเจ้าวิเทหราชกษัตริย์แห่งเมืองมิถิลา ทรงทดลองภูมิปัญญาของมโหสถโดยส่งไม่ตะเคียนกลึงยาว 1 คืบ ให้หาด้านโคนและปลาย มโหสถเอาเชือกผูกกลางท่อนไม้หย่อนลงในน้ำโคนไม้จะจมน้ำก่อน
........พระเจ้าวิเทหราชรับสั่งให้มโหสถเข้าเฝ้า พระองคืมีความเชื่อว่า บิดามารดาย่อมดีกว่าบุตรเสมอ มโหสถกราบทูลเปรียบเทียบกับลาที่ตกลูกเป็นม้าอัสดรและสรุปว่า ไม่แน่ว่าบิดามารดาจะดีกว่าบุตรเสมอไป พระเจ้าวิเทหราชพอพระทัยให้มโหสถเข้ารับราชการ มโหสถเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าวิเทหราชและพระนางอุทุมพร เมื่อมโหสถอายุ 16 ปี ออกเดินทางเสาะหาคู่ครอง พบสาวชาวนานางหนึ่งอยู่หมู่บ้านอุตตรวยมัชคาม ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของมิถิลา ชื่อ อมรกุมารี นางมีรูปสวยและฉลาด มโหสถได้ทดลองจนแน่ใจจึงรับมาเป็นภรรยา ขณะรับราชการปุโรหิตทั้ง 5 คน คือ เสนกะ ปุกุกุสะ เทวินท์ และกามินท์ มีความอิจฉามโหสถพยายามใส่ร้ายว่าเป็นกบฏอยู่เนืองๆ มโหสถหนีไปอยู่กับช่างปั้นหม้อทางด้านใต้ของเมืองมิถิลา เทพประจำเมืองช่วยเหลือ โดยปรากฏตัวเข้าไปถามปัญหาพระเจ้าวิเทหราช ปุโรหิตทั้ง 5 คนไมสามารถตอบคำถามได้ จึงต้องติดตามมโหสถมาตอบ
........พระเจ้าวิเทหราชยิ่งโปรดปรานยิ่งขึ้น ทรงมอบราชกิจต่างประเทศให้บริหารแคว้นวิเทหะรุ่งเรือง และได้ทำหน้าที่สั่งสอนธรรมะแก่พระองค์ด้วย ในชมพูทวีปมีกษัตริย์ครองครองแว่นแคว้นต่างๆต่างๆ จำนวน 101 พระองค์ กษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า จุลลนี คิดการใหญ่โดยมีปุโรหิตเกวัฏฏะเป็นที่ปรึกษา พระเจ้าจุลลนียกกองทัพเข้ายึดแคว้นต่างๆ ได้สำเร็จ จนเหลือแคว้นวเทหะเป็นแคว้นสุดท้ายจึงยกกองทัพเข้าล้อมเมืองมิถิลาไว้ มโหสถวางแผนป้องกันเมือง และตีทัพพระเจ้าจุลลนีแตกไปได้ต่อมามโหสถสามารถทำให้พระเจ้าจุลลนีทรงยกพระธิดาพระนามว่า ปัญจาลจันที ให้เป็นมเหสีของพระเจ้าวิเทหราช เมื่องพระเจ้าวิเทหราชสวรรคตแล้ว มโหสถได้อภิเษกพระโอรสพระองค์หนึ่งขึ้นครองราชย์แทน แล้วก็ทูลลาไปรับราชการกับพระเจ้าจุลลนีที่เมืองอุตตรปัญจาลนคร ตามที่พระองค์ขอร้องและอยู่ด้วยความผาสุก
........ปัญญาย่อมประเสริฐกว่าทรัพย์ คนที่มีปัญญาย่อมหาทรัพย์ได้ และรักษาไว้ได้ด้วย ส่วนคนที่ไม่มีปัญญา แม้จะมีทรัพย์ก็ยากที่จะรักษาทรัพย์ไว้ได้
พระวิธูรบัณฑิต
........พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นวิธูรบัณฑิตทรงบำเพ็ญสัจจบารมี
........พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะครองเมืองอินทปัตย์แคว้นกุรุ วันหนึ่งพระองค์ทรงแสวงหาความสงบสุขในมิคาชินอุทยาน พระองค์ได้พบแปลง 3 คน คือ ท้าวสักกะ พญาครุฑ พญานาค คนทั้ง 4 หาที่วิเวกรักษาอุโบสถศีล เมื่อได้พบกันถูกชะตากันเพราะเคยเป็นเพื่อนกันมาแต่อดีตชาติ พระองค์ได้สนทนากันว่าใครรักษาศีลได้ดีกว่ากัน เมื่อตกลงกันไม่ได้พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะจึงพาชายแปลงทั้ง 3 คนมาหาวิธูรบัณฑิต ซึ่งเป็นบัณฑิตประจำราชสำนัก วิธูรบัณฑิตวินิจฉัยให้ทั้ง 4 พระองค์ ทำความดีสนับสนุนศีลให้สมบูรณ์เสมอกัน ถ้ามีพร้อมในบุคคลใด ก็เป็นเหมือนกรรมเกวียนที่รวมมั่นอยู่ในดุมเกวียน จะทำให้สงบระงับบาปได้
เมื่อพญานนาคกลับถึงนาคพิภพ ได้เล่าให้นางวิมลมเเหสีฟัง นางมีความศรัทธาใคร่ได้ฟังธรรมจากวิธูรบัณฑิต นางแสร้างป่วยและบอกพญานาคว่าต้องการหัวใจของวิธูรบัณฑิต นางอิรันทตีซึ่งเป็นธิดาของพญานาคกับนางวิมลามีรูปร่างสวยงาม ฉลาด เมื่อทราบถึงความต้องการของมารดา ก็รับอาสาและขึ้นมาสู่โลกมนุษย์ เหาะไปที่ภูเขากาลคีรี แล้วขับร้องเพลงซึ่งมีเนื้อความว่า
........ผู้ใดนำหัวใจวิธูรบัณฑิตมาได้นางจะยอมเป็นภรรยาขณะนั้นปุณณกยักษ์ควบม้าเหาะผ่านมาเห็นนางอิรันทตีก็เกิดหลงรักจึงเข้ารับอาสา ปัณณกยักษ์แปลงเป็นหนุ่มน้อยเข้าไปท้าเล่นสกากับพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ ซึ่งกำลังเป็นประธานในที่ประชุมกษัตริย์ทั่วทั้งชมพูทวีป ในที่สุดปุณณกยักษ์เป็นฝ่ายชนะ ขอสิ่งพนันคือ วิธูรบัณฑิต พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะไม่ทรงยินยอม
........เมื่อทั้งสองตกลงกันไม่ได้ก็ไปหาวิธูรบัณฑิตตัดสิน วิธูรบัณฑิตตัดสินให้ปุณณกยักษ์เป็นฝ่ายถูกวิธูรบัณฑิตแสดงธรรมถวายพระเจ้าธนัญชัย และร่ำลาบุตรภรรยา สั่งสอนให้บุตรชายทั้งสองรู้ถึงข้อวัตรปฏิบัติที่ดีของข้าราชการ ต่อจากนั้นก็เดินทางไปกับปุณณกยักษ์ ระหว่างทาง ปุณณกยักษ์พยายามฆ่าวิธูรบัณฑิตครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ด้วยบุญบารมีของวิธูรบัณฑิต ทำให้แคล้วคลาดจากความตายมาตลอด
........วิธูรบัณฑิตได้แสดงธรรมแก่ปุณณกยักษ์ ปุณณกยักษ์เกิดความเลื่อมใส จึงพาไปนาคพิภพ วิธูรบัณฑิตได้แสดงธรรมแก่พญานาคและนางวิมลาให้ทั้งสองมีเมตตาจิตต่อนาคบริวาร ปรารถนาให้เขาทั้งหลายมีความสุข พญานาคกับนางวิมลายกนางอิรันทตีให้ปุณณกยักษ์ตามสัญญา ปุณณกยักษ์ปลาบปลื้มใจมาก และนำวิธูรบัณฑิตกลับสู่เมืองอินทปัตย์
........ผู้มีสัจจะต่อตนเองและผู้อื่น เป็นคนดี เมื่อประสบภัยย่อมพ้นภัยได้
พระเตมีย์
........พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเตมีย์
........ทรงบำเพ็ญเนกขัมบารมี
........พระเจ้ากาสีและพระนางจันทาเทวี แห่งเมืองพาราณสีไม่มีพระโอรสพระธิดา พระนางจันทาเทวีทรงตั้งสัตยาธิษฐานให้ พระอุโบสถศีลที่พระนางรักษาส่งผลให้ได้พระโอรส แรงอธิษฐานของพระนางทำให้ท้าวสักกเทวราชต้องเสด็จไปอ้อนวอนให้เทพบุตรโพธิสัตว์ ซึ่งกำลังจะจุติ (ตาย) จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาเกิดเป็นพระโอรสของพระนาง ไม่นานพระนางก็ทรงครรภ์ ยังความปลาบปลื้มปิติแก่พระเจ้ากาสี ข้าราชบริพารและชาวเมืองเป็นอย่างยิ่ง วันที่พระโอรสประสูตินั้นเกิดฝนตกตลอดทั้งแคว้น ความแห้งแล้งหายไป หมู่ไม้นานาพันธุ์สดชื่นพร โอรสจึงได้พระนามว่า พระเตมีย์ (ผู้ทำให้เกิดความชุ่มฉ่ำ) พระกุมารเตมีย์ทรงน่ารัก พระฉวีวรรณผุดผ่อง ทรงเลี้ยงง่าย พระบิดาทรงคัดเลือกแม่นมที่มีลักษณะดี ให้เลี้ยงดูพระกุมารถึง 64 คน เมื่อพระเตมีย์มีพระชนมายุเพียง 1 เดือน บรรทมอยู่บนพระเพลาของพระบิดา ซึ่งกำลังพิพากษาความผิดของโจร ทำให้พระองค์ทรงระลึกชาติได้ว่า เคยเกิดเป็นกษัตริย์ครองเมืองนี้อยู่ 20 ปี ตัดสินประหารชีวิตผู้คนมาไม่น้อย ตายแล้วส่งผลให้ตกนรกเป็นเวลานาน พระองค์ร้อนพระทัยหาทางพ้นจากตำแหน่งกษัตริย์ เทพธิดานางหนึ่งเคยเป็นพระมารดาของพระเตมีย์ในอดีตชาติยังคงติดตามรักษาพระองค์อยู่ ได้บอกอุบายให้พระองค์ทำเป็นเด็กพิการง่อยเปลี้ยเสียขา หูหนวก เป็นใบ้ พระองค์กระทำตามตั้งแต่นั้นมา พระเจ้ากาสีทรงพยายามทดลองพระโอรสด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ให้อดอาหาร เผาที่ประทับ ปล่อยช้างและงูให้มาจะทำร้าย ให้บรรทมอยู่กับอุจจาระ บรรทมบนความร้อน ให้หญิงรุ่นสาวมาเล้าโลม เป็นต้น แต่พระโอรสก็ไม่มีปฏิกิริยาอะไร จนพระเตมีย์มีพระชนมายุ 16 พรรษา โหรทำนายทายทักว่า พระเตมีย์เป็นตัวเสนียดจัญไรให้ฝังทั้งเป็น พระเจ้ากาสีทรงจำยอมให้ทำตามโหรหลวง พระนางจันทาเทวีทรงขอเวลา 7 วัน พระนางพร่ำอ้อนวอนให้พระเตมีย์เลิกทำตัวพิการแต่ก็ไร้ผล พระเตมีย์สุดแสนสงสารและสะเทือนพระทัยยิ่งนักแต่ก็อดกลั้นเอาไว้ จนนายสุนันทสารถีรับพระองค์ไปฝังนอกเมือง นายสารถีตั้งจะขับรถม้ามุ่งหน้าออกประตูเมืองทางทิศตะวันตก แต่กลับไปออกประตูเมืองทางทิศตะวันออกหยุดรถที่ป่าใหญ่ ด้วยเข้าใจว่าเป็นป่าช้าผีดิบ เขาเปลื้องเครื่องทรงพระเตมีย์ออกแล้วลงไปขุดหลุม พระเตมีย์เสด็จลงจากรถลองพระกำลังโดยยกรถม้าขึ้นเหลี่ยงเหนือพระเศียร แล้วเสด็จไปหาสารถีตรัสสั่งให้กลับไปกราบทูลพระเจ้ากาสีและพระนางจันทาเทวีทรงทราบเรื่องราว สำหรับพระองค์จะออกบวช เมื่อพระเจ้ากาสีและพระนางจันทาเทวีทรงทราบ รับสั่งให้จัดขบวนพร้อมเชิญชวนชาวเมืองไปเข้าเฝ้าพระเตมีย์ พระดาบสเตมีย์ทรงแสดงธรรมให้ทุกคนฟัง พระบิดาพระมารดาและทุกคนเลื่อมใสขอบวชอยู่ด้วย ไม่นานนักก็บรรลุฌานสมาบัติเมื่อมรณาภาพแล้วไปเกิดบนพรมโลก
คนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องอดทน อดกลั้น และรู้จักรอเวลา
พระเนมิราช
........พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเนมิราช
........ทรงบำเพ็ญอธิฐานบารมี
........พระเจ้าเนมิราชเป้นกษัตริย์สืบเชื้อสายมาแต่ราชวงศ์ของพระเจ้ามฆเทวะ ซึ่งมีกษัตริย์สืบเชื้อสายกันมาถึง 84,000 พระองค์ ครองราชสมบัติแห่งเมืองมิถิลา แคว้นวิเทหะพระองค์ทรงยินดีในการบริจาคทาน โปรดให้สร้างโรงทาน 5 แห่ง ที่ประตูเมืองทั้ง 4 ด้าน และกลางเมืองอีก 1 แห่ง นอกจากนี้ พระองค์ยังแสดงธรรมชักชวนชาวเมืองทำบุญให้ทาน รักษาศีล พระองคืมีความสงสัยว่าการให้ทาน กับการรักาศีลอย่างไหนมีผลมากกว่ากัน ในคืน 15 ค่ำวันหนึ่ง ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาถึงห้องบรรทมและได้ตรัสตอบว่า การรักษาศีลมีผลมากกว่าการให้ทาน เพราะการให้ทานส่งผลให้เกิดได้แต่ในสวรรค์ แต่การรักษาศีลส่งผลให้ไปเกิดได้ถึงพรหมโลก การให้ทานและการรักษาศีลต่างเป็นความดีจึงควรทำควบคู่กันไป เทพทั้งหลายได้ทราบเรื่องพระเจ้าเนมิราชจากท้าวสักกะจึงทูลขอให้พระองค์อันเชิญพระเจ้าเนมิราชมายังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกะทรงใช้ให้มาตลีเทพบุตรขับเวชยันตราชรถมารับพระเจ้าเนมิราช ขณะที่พระองค์ประทับอยู่มหาปราสาทท่ามกลางหมู่อำมาตย์และข้าราชบริพาร พระเจ้าเนมิราชทรงรับคำเชิญขึ้นประทับเวชยันตราชรถ มาตลีเทพบุตรพาพระองค์เที่ยวชมขุมนรก 15 ขุม คือ เวตรณีนรก นรกสุนัข นรกคูถ นรกน้ไหลืองน้ำหนอง นรกเบ็ด นรกภูเขาเหล็กแดง นรกบ่อไฟ นรกสัตว์น่าเกลียด เป็นต้น แล้วมาตลีเทพบุตรก็นำพระองค์ไปชมสวรรค์ บันดาลให้สวรรค์ทุกชั้นปรากฏให้เห็น หลังจากนั้นก็นำเข้าเฝ้าท้าวสักกะ ณ สุธรรมาเทวสภา ท้าวสักกะเชิญชวนให้พระเจ้าเนมิราชเสวยทิพยสมบัติอยู่กับพระองค์ พระเจ้าเนมิราชทรงปฏิเสธขอกลับไปสร้างบุญกุศลของพระองค์เองให้มาก เมื่อพระเจ้าเนมิราชเสด็จกลับมา พระองค์ตรัสเล่าเรื่องนรกสวรรค์และผลการกระทำให้ข้าราชบริพารและชาวเมืองได้ฟัง ทำให้ทุกคนยึดมั่นในการทำความดีมากยิ่งขึ้น พระเจ้าเนมิราชเสวยราชย์ด้วยความผาสุกสืบมา จนล่วงเข้าสู่วัยชราพระองค์ก็เสด็จออกผนวชอยู่ในอุทยานสวนมะม่วง ตามโบราณราชประเพณีของราชวงศ์ทุกพระองค์ พระองค์เจริญพรหมวิหาร 4 สำเร็จฌานสมาบัติ เมื่อสิ้นอายุขัยได้ไปเกิดบนพรหมโลก
ความแน่วแน่มั่นคงในความดี เป็นสิ่งเกื้อกูลให้ประสบความสำเร็จได้
พระภูริทัต
........พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระภูริทัต
........ทรงบำเพ็ญศีลบารมี

........พระนางสมุททชา พระธิดาของพระเจ้าพรหมทัต ได้อภิเษกกับพญานาคฐตรฐแห่งนาคพิภพ มีพระโอรส 4 พระองค์ คือ สุทัสสนกุมาร ทัตตกุมาร สุโภคกุมาร และอริฏฐกุมาร ทัตตกุมารฉลาดกว่าผู้อื่น บิดาจึงมอบหมายงานให้ทำมากกว่า คราวหนึ่งทัตตกุมารได้ติดตามพระบิดาและท้าววิรูปักษ์เข้าเฝ้าท้าวสักกเทวราช ทัตตกุมารได้แสดงความสามารถให้ท้าวกักกะโปรดปราน จึงตั้งชื่อให้ว่า ภูรทัตตกุมาร (พระกุมารผู้มีปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน) ภูริทัตตกุมารหมั่นรักษาศีลเพราะรู้ว่าผลของการรักษาศีลจะได้เกิดเป็นเทพบนสวรรค์ ครั้งหนึ่งพระองค์ขออนุญาตพระบิดาพระมารดารักษาศีลบนโลกมนุษย์ พระองค์รักษาศีลอย่างเคร่งครัด อธิษฐานจิตไว้มั่นคงว่า หนัง เอ็น กระดูก เลือดเนื้อ หากผู้ใดต้องการก็จงเอาไปเถิด ไม่ปกป้อง ไม่หวง ยินดีสละให้ พรานเนื้อชาวเมืองพาราณสีสองพ่อลูก ออกล่าเนื้อมาถึงริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ใกล้บริเวณที่ภูริทัตตกุมารจำศีลอยู่ เมื่อเห็นภูริทัตตกุมารก็เข้าไปสอบถาม พระภูริทัตบอกตามความจริงแล้วพาพรานทั้งสองไปเที่ยวเสวยสุขในนาคพิภพ เวลาผ่านไป 1 ปี พรานทั้งสอง ลาพระภูริทัตกลับโลกมนุษย์ ต่อมามีพราหมณ์คนหนึ่ง เรียนมนต์จับงูจากฤาษีตนหนึ่ง มนต์นั้นชื่อ มนต์อาลัมพายน์ คนทั่วไปจึงเรียกเขาว่า พราหมณ์อาลัมพายน์ อำนาจมนต์ช่วยให้ได้แก้ววิเศษจากพวกนางนาค พรานผู้เป็นพ่อเห็นเข้าจึงต้องการได้ จึงแลกเปลี่ยนด้วยการบอกที่รักษาศีลของพระภูริทัต และทรมานด้วยวิธีการต่างๆ พระภูริทัตไม่ยอมให้ความโกรธเกิดขึ้น เพราะต้องการรักษาศีล พราหมณ์อาลัมพายน์ได้นำพญานาคภูริทัตไปแสดงกลเรี่ยรายเงินได้จำนวนมาก พระนางสมุททชาทรงฝันร้าย และไม่เห็นพระภูริทัตมาเฝ้าดังเคย จึงแน่พระทัยว่าพระโอรสประสบภัย พระโอรสทั้งสามพระองค์รับอาสาออกติดตาม สุทัสสนกุมารแปลงตัวเป็นฤาษีติดตามไปจนพบพราหมณ์อาลัมพายน์กำลังเปิดแสดงที่ประตูพระราชวังพาราณสี พญานาคภูริทัตเห็นฤาษีแปลงก็เลื้อยเข้ามาซบ ร้องไห้แทบเท้าพี่ชาย โดยท้าให้สู้กับพิษของเขียดซึ่งเป็นนางนาคแปลง พิษร้ายนั้นได้ถูกผิวหนังพราหมณ์อาลัมพายน์จนกลายเป็นโรคเรื้อน เขาตกใจยอกปล่อยพญานาคภูริทัต สุทัสสนกุมารและพระภูริทัตเข้าเฝ้าพระเจ้าพาราณสี กราบทูลให้พระองค์ทรงทราบว่า เป็นพระโอรสของพระนางสมุททชาพระขนิษฐาของพระองค์ พระภูริทัตกลับไปพักรักษาพระองค์ แล้วได้กล่าวว่า พราหมณ์กับผู้ครองเรือนปุถุชนทั่วไปยังหมกมุ่นในกามคุณ ยังต้องการทรัพย์สิน ข้าว บ่าวไพร่ เหมือนกัน
........การทำความดีนั้นอาจมีอุปสรรคมาทดสอบแต่สุดท้ายก็จะประสบชัยชนะ
พระจันทกุมาร
........พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นเจ้าชายจันทกุมาร
........ทรงบำเพ็ญขันติบารมี
........เจ้าชายจันทกุมาร เป็นพระโอรสของพระเจ้าเอกราชแห่งเมืองปุปผวดี พระธิดาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอุปราช ทำหน้าที่ว่าราชการแทนพระเจ้าเอกราช มีปุโรหิตคนหนึ่งชื่อ กัณฑาหาละทำหน้าที่ถวายคำแนะนำและตัดสินคดีความ เขาทำหน้าที่ดีในตอนแรกๆ ต่อมารับสินบนจากเจ้าชาย จันทกุมารทรงทราบเรื่อง และช่วยพลิกคดีให้เจ้าทุกข์ที่ได้รับความยุติธรรม เมื่อพระเจ้าเอกราชทรงทราบจึงแต่งตั้งให้เจ้าชายจันทกุมารเป็นผู้พิพากษาแทน ปุโรหิตกัณฑหาละโกรธแค้นหาทางทำลายล้างเจ้าชายจันทกุมารตลอดมา คืนหนึ่งพระเจ้าเอกราชทรงฝันเห็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เห็นท้าวสักกเทวราชประทับในปราสาท แวดล้อมด้วยเทพธิดา ความฝันทำให้พระองค์ปรารถนาไปเที่ยวสวรรค์ กัณฑหาละเห็นเป็นโอกาส จึงทูลแนะนำให้บูชายัญด้วยพระมหาสี พระโอรส พระธิดา ถวายเทพเจ้า พระเจ้าเอกราชทรงเบาปัญญาเชื่อกัณฑหาละ รับสั่งให้นำพระมหเสี 4 พระองค์ พระโอรส 5 พระองค์ พระธิดา 4 พระองค์ รวมทั้งเศรษฐีประจำแคว้น 4 คนมารวมกันไว้ นอกจากนี้ พระองค์ให้นำพาหนะสำคัญ มีทั้งช้าง ม้า โค อุสุภราช (วัวตัวผู้ลักษณะดี)มาบูชายัญด้วย พระบิดาพระมารดาของพระเจ้าเอกราชเสด็จมาขอร้องก็ไม่ทรงยอม ต้องเสด็จกลับไปด้วยความเสียพระทัย เจ้าชายจันทกุมารทรงทราบว่าพระองค์เป็นต้นเหตุเพราะไปขัดแย้งกับปุโรหิตกัณฑหาละ จึงเป็นหน้าที่ที่พระองค์จะต้องแก้ไข พระองค์ทรงขอร้องพระบิดาจนพระทัยอ่อน ยินยอมปล่อยทุกคนถึง 3 ครั้ง แต่ทุกครั้งปุโรหิตกัณฑหาละกราบทูลทัดมานจนพระเจ้าเอกราชรับสั่งให้จับทุกพระองค์เป้นครั้งที่ 4 แล้วพาออกนอกพระนคร ชาวเมืองร้องไห้คร่ำครวญ ทั่วพระนครบรรยากาศเต็มไปด้วยความเศร้าโศก เจ้าชายจันทกุมารประทับยืนอยู่ปากหลุมบูชายัญ วิงวอนพระบิดาเป็นครั้งที่ 4 พระนางจันทาชายาของเจ้าชายจันทกุมารได้ช่วยวิงวอนด้วย แต้พระเจ้าเอกราชไม่พระทัยอ่อนยืนยันจะบูชายัญ ก่อนที่เจ้าชายจันทกุมารจะถูกประหารด้วยคมดาบของกัณฑหาละ ท้าวสักกเทวราชถือตะบองเหล็กเสด็จมาทำลายพิธี ตรัสตำหนิพระเจ้าเอกราชอย่างรุนแรง พระเจ้าเอกราชตกพระทัยกลัว รับสั่งให้ปล่อยทุกคนและสัตวืทั้งหลาย ชาวเมืองได้โอกาสเข้ารุมทุบตีปุโรหิตกัณฑหาละจนถึงแก่ความตาย จากนั้นจะเข้าปลงพระชนม์พระเจ้าเอกราช เจ้าชายจันทกุมารเข้าขัดขวางและอ้อนวอนขอชีวิต ชาวเมืองยอมยกให้ แต่ให้เนรเทศไปอยู่ในหมู่บ้านคนจัณฑาล แล้วอภิเษกเจ้าชายจันทกุมารเป็นกษัตริย์ พระองค์เสด็จไปเยี่ยมพระบิดาอยู่เนืองๆ และปกครองเมืองปุปผวดีให้ผาสุขสืบมา
........การฟังเรื่องราวใด ต้องใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ มิฉะนั้นจะหลงเชื่อและกระทำผิดเสียหายได้
พระนารทพรหม

........พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระนารทพรหม
........ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี
........พระเจ้าอังคติราชเป็นกษัตริย์ซึ่งทรงทศพิธราชธรรมแห่งเมืองมิถิลา พระองคืมีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง พระนามว่ารุจา และมีอำมาตย์ใหญ่ที่รับใช้ใกล้ชิดอยู่ 3 คน คือ วิชัยอำมาตย์ สุนามอำมาตย์ และอลาตอำมาตย์ คืนหนึ่งเป็นคืนวันเพ็ญเดือน 12 ท้องฟ้าแจ่มใส พระเจ้าอังคติราชตรัสปรึกษากับอำมาตย์ทั้ง 3 ว่า ควรทำอะไรจึงจะเป็นประโยชน์ อลาตอำมาตย์กราบทูลแนะนำให้ยกทัพไปตีเอาบ้านเมือง สุนามกราบทูลให้จัดงานเลี้ยงขับร้องฟ้อนรำให้สนุกสนาน ส่วนวิชัยอำมาตย์กราบทูลให้เสด็จไปสนทนาธรรมกับสมณ พราหมณ์ พระเจ้าอังคติราชตกลงพระทัยไปสนทนากับคุณาชีวก ซึ่งเป็นนักบวชที่มีชื่อเสียง มีคนนับถือมากในเวลานั้น พรองค์ตรัสถามถึงหนทางไปสู่สวรรค์ หนทางไปสู่นรกและการปฏิบัติต่อบิดามารดา ครูอาจารย์ บุตรภรรยา ผู้เฒ่าผู้แก่ สมณพราหมณ์ พลพาหนะและบ้านเมือง คุณาชีวกตอบตามความรู้ความเข้าใจของตนว่า ไม่มีบุญ ไม่มีบาป บิดามารดาไม่มี สตว์คนเสมอกัน จะได้ดีได้ชั่วเอง เวียนว่ายตายเกดิ 64 กัปป์ก็บริสุทธิ์เอง อลาตอำมาตย์กล่าวสนับสนุนในด้านไม่มีบาปไม่มีผลของบาป เขาระลึกได้ว่า ชาติที่แล้วเขาเป็นคนฆ่าวัว ในชาตินี้เขากลับได้มาเกิดในตระกูลขุนนาง วีรกะ เป็นชายเข็ญใจผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในที่นั้นกล่าวสนับสนุนคำสอนที่ว่า บุญและผลของบุญไม่มี เขาระลึกได้ว่าเขาเคยเกิดเป็นเศรษฐีทำความดีไว้มาก แต่ชาตินี้เขากลับมาเกิดเป็นคนเข็ญใจ คนทั้งสองนี้ระลึกชาติได้เพียงชาติเดียวจึงหลงผิด พระเจ้าอังคติราชหลงผิดเชื่อตามคำสอนของคุณาชีวก จึงเปลี่ยนพระจริยาวัตร เลิกทำความดี หันมาใช้ชีวิตอย่างสำราญ เลิกศึกษาข้อธรรมต่างๆ ไม่สนพระทัยในราชกิจและประชาชนทั้งปวง พระธิดารุจาทรงทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของพระบิดา พระธิดาเสด็จเข้าเฝ้าพระเจ้าอังคติราช ตรัสติงในมิจฉาทิฏฐินั้น แม้ว่าพระธิดาจะตรัสอธิบายอย่างไร พระเจ้าอังคติราชก็ไม่ทรงฟัง พระธิดารุจาทรงอ้อนวอนต่อเทพพรหมผู้ทรงธรรมทั้งหลายได้โปรดมาช่วยกลับพระทัยของพระบิดาให้ถูกต้อง ด้วยท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งนามว่า นารทะทรงได้ยินคำอ้อนวอนเกิดเมตตา จึงแปลงเป็นฤาษีเหาะมาอยู่เฉพาะพระพักตร์ทั้งสองพระองค์ นารทพรหมหยายามอธิบายและพรรณนาถึงโทษของขุมนรกต่างๆ พระเจ้าอังคติราชค่อยพิจารณาตามจนกลับมามีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องดุจเดิม พระธิดารุจาดีพระทัยมาก แคว้นวิเทหะกลับมามีความสงบสุขอีกครั้งหนึ่ง
........ไม่ควรคบและเชื่อฟังคนพาล ควรคบแต่นักปราชญ์ที่เป็นคนดีมีศีลธรรม

04 ตุลาคม 2552

วัดคงคาราม
........วัดคงคาราม เป็นวัดที่มีมาแต่โบราณจะสร้างในครั้งใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด จากการเล่าสืบต่อมาของชาวบ้านซึ่งมีเชื้อสายมอญพอจะจับเค้าได้ว่า ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาต่อกับกรุงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ มีพวกมอญได้อพยพเข้ามาตามลำน้ำแม่กลองมาตั้งถิ่นฐานอยู่เหนือเขตอำเภอโพธาราม (ในสมัยนั้นยังไม่ได้เป็นอำเภอ) ขึ้นไปจดใต้อำเภอบ้านโป่ง และได้สร้างวัดนี้ขึ้นหรือวัดนี้อาจจะสร้างมาก่อนที่พวกมอญจะอพยพเข้ามา และหลังจากเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ก็ได้ทำนุบำรุงเป็นวัดมอญสืบต่อมา
........แรกเริ่มแต่เดิมทีวัดนี้ชื่อ “วัดกลาง” ภาษามอญเรียกว่า “เภียโต้” มีความหมายอยู่สองนัยด้วยกัน คือ
1.หมายถึงศูนย์กลางของชุมชนและเภียโต้เป็นชื่อวัดในสมัยที่มอญยังเป็นประเทศ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานผ้ากฐินหลวงที่วัดนี้หลายปี และได้พระราชทานนามใหม่เป็น “วัดคงคาราม”
2.ในสมัยหลังได้มีพระรามัญจากนครหลวงที่มีความรู้ความสามารถและมีคุณวุฒิมาเป็นสมภาร ฝ่ายคณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะใหญ่ได้ปกครองวัดตามฝั่งแม่น้ำแม่กลองทั้งสองฝั่ง วัดนี้จึงได้เป็นวัดเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญนิกาย แขวงเมืองราชบุรี และเจ้าคณะได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูรามัญธิบดีถึง 6 รูปด้วยกัน

........วัดขนอนหนังใหญ่ ตั้งอยู่ตำบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม เป็นวัดที่มีการจัดแสดงหนังใหญ่เเละมีพิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ ของโบราณ ในวันเสาร์-อาทิตย์จะมีการแสดงหนังใหญ่ให้นักท่องเที่ยวชม เวลา 11.00 น.

ค้างคาววัดเขาช่องพราน


........ตั้งอยู่ตำบลเตาปูน ห่างจากตัวอำเภอโพธารามไปทางทิศตะวันตกประมาณ 9 กิโลเมตร ถ้ามาจากตัวเมือง ใช้เส้นทางเขางู-เบิกไพร ไปประมาณ 17 กิโลเมตร บริเวณเขาช่องพรานมีถ้ำที่สวยงามคือ ถ้ำพระนอนและฝูงค้างคาวนับล้านตัว ที่กรูกันบินออกจากถ้ำพวยพุ่งเป็นสายสีดำ นานนับชั่วโมง ทุกเย็นใกล้พลบค่ำ ในฤดูร้อนฝูงค้างคาวจะบินไปทางทิศตะวันออก ในช่วงฤดูหนาวฝูงค้างคาวจะบินไปทางทิศตะวันตก

4

เผ่าไทยโพหัก

3

2

1